ศิลป วัฒนธรรม ประเพณี การละเล่นพื้นบ้าน


ศิลป  วัฒนธรรม  ประเพณี
การละเล่นพื้นบ้านของชาวยางชุมใหญ่

            ฮีต  12  เป็นจารีตประเพณี  12  เดือนที่ทุกคนในหมู่บ้านจะต้องเรียนรู้มีดังนี้ 
            1.  เดือนอ้ายหรือเดือนเจียง  มีงานบุญเข้ากรรม  มีงานบุญนำผ้าห่มกันหนาวไปถวายพระสงฆ์  ถ้าเปรียบเทียบกับเดือนไทยในปัจจุบันน่าจะอยู่ช่วงเดือนธันวาคม  ซึ่งเป็นฤดูหนาว  ปัจจุบันจารีตประเพณีนี้ค่อนข้างจะจางหาย  ในช่วงเดือนอ้ายนี้จะเป็นฤดูหนาวที่คนในหมู่บ้านกำลังมีงานที่ต้องทำจนวนมากในตอนกลางวันก็จะเก็บเกี่ยวข้าว  หอม  มัดหอม  ตอนเย็นก็แขวนหอมช่วยเพื่อนบ้าน  แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน  สำหรับคนทำงาน  ส่วนเด็กวัยรุ่นก็จะนำวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้  เช่น  วันคริสต์มาส  วันส่งท้ายปีเก่า
            2.  เดือนยี่  ประมาณเดือนมกราคม  มีงานคูณลาน  ทำบุญที่วัด  นิมนต์พระสงฆ์เทศนาเรื่องพระแม่โพสพ  บำรุงขวัญการเกษตร  ทำพิธีปลงข้าวในลาน  แล้วขนข้าวขึ้นฉาง  ( เล้า บางครอบครัวยังนับถือประเพณีอันดีอยู่  ไม่ยอมขายข้าว  จ่ายข้าว  ถ้ายังไม่ได้ทำบุญ  ถ้ายังไม่ได้เอาขึ้นเล้า  เพื่อสร้างสิริมงคลให้ข้าวให้ขวัญกำลังใจผู้ปลูกข้าว  มีผลผลิตที่ดี  และให้รู้จักบุญคุณของข้าว  แต่ปัจจุบันก็มีบางครอบครัวเริ่มขายข้าวเขียว  คือไปกู้หนี้ยืมสินเขามา  เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จยังมาไม่ถึงเล้าเจ้าของเงินเขามาเก็บแล้วจำเป็นต้องให้เขาไป  หรือลูกหลานต้องการเงินใช้จ่าย  เมื่อไม่มีเงินก็ต้องเอาไปขาย  จนมีคำกล่าวว่าขายง่ายที่สุดไม่ต้องต่อรองราคาให้เสียเวลาก็คือขายข้าว  ปัจจุบันเดือนยี่ก็จะมีบุญขึ้นบ้านใหม่  มีบุญประจำปีคูณลานข้าว  หอม  กระเทียม  ที่วัด  พร้อมกับทำบุญประจำปีเพื่อหารายได้สร้างวัด
            3.  เดือนสามมีบุญข้าวจี่  คืองานเลี้ยงลาตาแฮก  หลังจากขนข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว  มีการแยกเรียกขวัญข้าว  ( กู่ขวัญข้าว ชาวยางชุมใหญ่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร  มีข้าวเป็นอาหารหลัก  เพราะฉะนั่นข้าวจึงมีพระคุณต่อผู้คน  จึงควรแสดงความกตัญญูกตเวที  ไม่ลบหลู่บุญคุณของข้าว  ทุกวันนี้มากกว่าครึ่งก็ยังรักษาจารีตประเพณีนี้อยู่  แต่ก็มีบางครอบครัวได้งดเว้นไป  โดยเฉพาะครอบครัวคนรุ่นใหม่  วัยรุ่นจะเน้นวันวาเลนไทน์  วันแห่งความรักไปแบบฝรั่ง  ช่วงเดือนสามเป็นเดือนแห่งการรับจ่ายเงินในครอบครัว  ได้มีการขายหอม  ขายข้าว  และจ่ายหนี้ที่กู้ยืมมา  ถ้าปีไหนเศรษฐกิจดีหน้าชื่นดีใจ  แต่ถ้าปีไหนเศรษฐกิจไม่ดีก็เหงาไปตามกัน  แต่เดือนสามก็คือเดือนแห่งความหวังของชาวบ้านทุกคน
            4.  เดือนสี่  มีพิธีทำบุญผะเวส และฟังเทศน์มหาชาติ  บางปีก็ไปทำเอาเดือนห้า  บางปีก็ลืม  บางปีก็ตรงกับจารีตประเพณี  เคยมีครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  เมื่อชาวบ้านไม่ยอมทำบุญผะเวสจะเกิดเภทภัยต่างคนต่างโจษจันไปต่าง ๆ  นานา  ทุกวันนี้บุญนี้ก็ยังสืบสานกันต่อแต่ขาดความสสำคัญลงไป
            5.  เดือนห้า มีเทศกาลงานสงกรานต์  บางปีก็มีการจัดเป็นพิเศษที่ยิ่งใหญ่  มีการกราบไหว้ท่านผู้อาวุโสทำเป็นปีผู้อาวุโส  บางปีก็ผ่านเลยไป  จริง ๆ  แล้วส่งกรานต์บ้านยางชุมใหญ่จะมีเวลายาวถึง  1  เดือน  โดยจะเริ่มเอาพระลงสรงวัน  ค่ำเดือน  จนถึง  15  ค่ำเดือน  รวมเป็นเวลา  เดือน  จะมีการละเล่นสงกรานต์  มีการตบประทาย  มีการไปเล่นน้ำมูล  ปัจจุบันจะเล่นกันจริง ๆ  ตามที่รัฐบาลประกาศ  คือประมาณ  วัน  ช่วงวันที่  12 14  เมษายน  ของทุกปี  เด็กวัยรุ่นชอบชวนกันไปอาบน้ำมูลที่ท่าห้วยครก  ส่วนการพิธีของสงฆ์  การสรงพระจะดำเนินการตามปกติเช่นทุกปีตลอดมา  ลูกหลานจะต้องตักน้ำไปให้ปู่ย่า  ตายายอาบ  ให้คนแก่อายุยืนและให้อวยพรลูกหลาน
            6.  เดือนหก  มีงานบุญวิสาขบูชา  บุญขอฝน  บุญบั้งไฟ  วันเพ็ญเดือนหกเป็นวันที่สำคัญยิ่งของศาสนาพุทธจะต้องมีการเวียนเทียนกันทุกปี  และหลายครั้งกรรมการหมู่บ้านมักจะทำบุญผ้าป่าขึ้นโดยทำบุญบั้งไฟไปพร้อม  ถ้าปีไหนมีบั้งไฟก็จะให้ความสำคัญของบัญบั้งไฟมากกว่า  เน้นความสนุกสนาน  และมักจะจัดแทบทุกปี  ส่วนการเวียนเทียนช่วงค่ำนั้น  ปัจจุบันมักจะเพี้ยนไปคือรีบเวียนเทียนรีบกลับบ้าน  เพราะทุกวันนี้ผู้คนติดรายการโทรทัศน์  จึงไม่ยอมเสียเวลาในการเวียนเทียน  และไม่ชอบให้พระเทศน์ให้ฟังยาว ๆ
            7.  เดือนเจ็ด  มีงานบวชนาค  เดิมทุกปีจะมีคนบาชจำนวนมาก  ก็จะนัดหมายจัดงานบวชขึ้นพร้อมกัน  แต่ปัจจุบันมีนาคน้อย  การจัดงานก็ไม่ค่อยมี  บางทีก็ไปบวชร่วมกับบ้านอื่น  ประเพณีนี้ส่วนใหญ่ก็ยังมีการสืบสานต่อกันมาทุกปี
            8.  เดือนแปด  มีเทศกาลงานเข้าพรรษาวันอาสาฬหบูชา  เป็นงานหนึ่งที่ทางราชการได้ส่งเสริมเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะให้มีการตั้งตนให้อยู่ในศีล  ละเว้นอบายมุข  ประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญ  มีการสร้างต้นเทียนเข้าพรรษา  ถวายผ้าอาบน้ำฝน  ในระหว่างอยู่พรรษาของพระสงฆ์ถือว่าได้กุศลยิ่ง
            9.  เดือนเก้า  มีบุญข้าวประดับดิน  ในวันแรม  14  ค่ำ  เดือน  9  เป็นการให้ทานแก่เปรต  หรือวิญญาณที่ตกทุกข็ได้ยาก  ก็เป็นบุญหนึ่งที่ได้มีการดำเนินกันมาทุกปี
            10.  เดือนสิบ  มีการทำบุญข้าวสากหรือกระยาสารท  ไปทำบุญที่วัด  ถวายผ้าอาบน้ำฝน  และเครื่องไทยทาน  ( ทำสังฆทาน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว  ถือได้ว่าคุณพ่อแม่  ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้วมีโอกาสที่จะได้รับอาหารจากลูกหลานที่ไปทำบุญ  หรือห้อยแขวนข้าวสาก
            11.  เดือนสิบเอ็ด  มีงานบุญออกพรรษา  มีการจัดงานใหญ่  มีบุญตักบาตรเทโว  พิธีกวนข้าวทิพย์  แห่ปราสาทผึ้ง  ไหลเรือไฟ  แข่งเรือ  บ้านยางชุมใหญ่ของเราจะให้ความสำคัญในการทำปราสาทผึ้เปรียบเทียบได้กับการสร้างบ้านเรือน  ปราสาทราชวังให้ญาติที่เสียชีวิตไปได้มีโอกาสได้บ้านที่สวยงาม  จึงมีปราสาทผึ้งจำนวนมาก  เวลาไปแห่เทียนวันออกพรรษาจะมีผู้คนจำนวนมากแต่งตัวให้สวยงาม  ถือได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งและมีการสืบสานมาทุกปี  และในช่วงนี้ลูกหลานก็มีโอกาสไปเยี่ยมปู่ย่า  นำกล้วย  ปลา  ขนม  อาหารไปให้ปู่ย่า  อีกครั้งหนึ่ง
            12.  เดือนสิบสอง  มีบุญกฐิน  เป็นประเพณีที่สำคัญ  ถ้าปีใดไม่มีคนจองกฐิน  คณะกรรมการหมู่บ้านก็จะประชุมกัน  สร้างกฐินสามัคคีเพื่อหารายได้สร้างวัด  มักจะมีมหรสพสมโภช  เช่น  หมอลำ
            ครอง  14 
            ครองสิบสี่ได้แก่หลักในการปฏิบัติในการครองบ้าน  มี  14  ข้อ  คือ
1.      หูเมือง  เป็นสมบัติตัวแทนเมือง  คือพูดจาไพเราะอ่อนหวาน  พุดจริง
2.      ตาเมือง  คือรู้หลักนักปราชญ์การบ้านการเมือง  และรู้หลักธรรม
3.      แก่นเมือง  เป็นผู้ทรงคุณธรรม
4.      ประตูเมือง  เป็นผู้มีจริยธรรม
5.      รากเมือง  รอบรู้ด้านโหราศาสตร์  ดาราศาสตร์
6.      เหง้าเมือง  ผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต
7.      ขางเมือง  ชำนาญในการศึกษา
8.      ขื่อเมือง  นักปราชญ์ผู้กล้าหาญ
9.      แปเมือง  ผู้มีศีลธรรม  ตัดสินคดีความอย่างเที่ยงธรรม
10.  เขตเมือง  รักษาขอบเขตที่ดี
11.  ใจเมือง  นักปกครองที่ดี
12.  คำเมือง  พิทักษ์รักษาเมืองให้มีคุณค่ารุ่งเรือง  ร่ำรวย
13.  สติเมือง  ให้มีความรู้ทางยา  และรักษาพยาบาล
14.  เมฆหมอกเมือง  ทำหน้าที่ประดุจเทพารักษ์รักษาเมือง
ประเพณีสำคัญในท้องถิ่น
1.      ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เรื่องสู่ขวัญไม่ใช่เรื่องธรรมดา เป็นกลยุทธอันยิ่งใหญ่ของศาสนาพราหมณ์ เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องอัญเชิญเทวาดามาจากสวงสวรรค์ เพื่อมาให้พร ให้คำพูดอันเป็นวาจาสิทธิ์ที่จะให้บุคคลที่เข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญ ประสบความสำเร็จในชีวิต ในสิ่งที่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  จะกระทำเมื่อบุคคลประสบความสำเร็จ เช่น เมื่อสำเร็จการศึกษา หรือเป็นช่วงๆ คือ เกิด จบการศึกษา บวช  แต่งงาน ได้เลื่อนขั้น ยศ และ ต้องการรับขวัญเมื่อกลับจากทหาร กลับจากทำงาน  และในปัจจุบัน จะนำมาประยุกต์ สู่ขวัญต้อนรับเจ้าเมือง แขกที่ทำกฐินผ้าป่ามาให้หมู่บ้าน  ต้อนรับข้าราชการที่มาบรรจุใหม่   ส่งข้าราชการที่ย้าย เกษียณ  กิจกรรมดังกล่าวมีขั้นตอน การทำภาบายศรีที่เป็นงานฝีมือด้านใบตองที่ปราณีต  แล้วก็เชิญหมอพราหม์ที่ชาวบ้านนับถือ ผู้ถือศีล(เลือกวัน เวลาที่เหมาะสม เป็นมงคล) มีการบอกแขกที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คนแก่อาวุโส  มีไข่ในภาขวัญ มีฝ้ายผูกแขน และถ้าแต่งงานก็จะมีหัวไก่ต้มสุกด้วย(เคยมีคนพูดว่า ได้เมียครั้งนี้จะดีหรือไม่ดีก็อยู่ใต้คางไก่นี่แหล่ะ  ข้าพเจ้าก็ได้ไปดูคางไก่แต่งงานน้องชายผมเอง หลังพิธีบายศรีสู่ขวัญเสร็จ หมอพราหม์ก็เอาคางไก่มาดู ปรากฏว่า มันหักงอหยิก ชี้ไปคนละทิศละทาง มีคนในกลุ่มบอกว่า ไม่ดี  แต่กลัวว่าเจ้าตัวและญาติจะเสียใจก็ทำทีพูดใหม่ว่า เออ ดีๆ แต่หมอพราหมณ์ ดูท่าจะวิตกกังวล ก็เลยให้ น้องชายผมเอาแหวนมา พร้อมดอกไม้ มาทำพิธีสวดแก้เคล็ด จึงเสร็จพิธี   ต่อมา ประมาณ 2 ปีให้หลัง น้องชายของข้าพเจ้าประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต น้องสะไภ้จึงกลายเป็นหม้าย  ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงขาไก่วันแต่งงานว่า  นี่แหล่ะที่บอกว่า ดีไม่ดีดูที่ขาไก่ใต้คาง)  การสวดของพราหมณ์ ท่านจะดูทิศทาง จะมีการอัญเชิญเทวดา มีการกล่าวถึงขวัญต่างๆในร่างกาย ขวัญคิ้ว คาง  และจะมีบางช่วงให้ คนที่อยู่รอบภาขวัญ ได้เอิ้นขวัญ  เชิญขวัญว่ามาเด้อขวัญเอ้ย ช่วงนี้จะได้ยินเสียงร้องอื้ออึงไปหมด หลังสวดเสร็จก็จะมีการดูไข่  ขณะสวดก็จะมีการเอาเงิน มัดด้วยฝ้ายผูกให้หมอพราหม์(แถวบ้านผม ถ้าหมอพราหมณ์  สมัยก่อน ท่านเห็นเงินมากๆ ก็จะสวดเสียงดังๆ ถ้าได้เงินน้อย เสียงก็จะค่อยๆ)  หลังสวดเสร็จก็จะมีการผูกแขน  ตรงนี้แหละเป็นส่วนสำคัญมากๆ  จะเป็นคำสอนแบบไม่สอน แต่จะจำได้แม่นๆ เช่น มาเด้อขวัญเอ้ย  ฮ้ายกวาดหนี(เอาสิ่งที่ร้ายๆ หนีไป)ดีกวาดใส่(เอาสิ่งดีๆเข้ามาใส่ตัว) ใหม่มาแถม(เอาของใหม่ๆ เข้ามา) ผูกเบื้องซ้ายขวัญมา  ผูกเบื้องขวาขวัญอยู่(ขวัญคือกำลังใจ ขอให้มา ขอให้อยู่กับตัวเรา) นอนหลับให้ได้เงินหมื่น  นอนตื่นให้ได้เงินแสน แปนมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ  โทษฮ้ายอย่ามาพาล มารฮ้ายอย่ามาเบียด ให้หายขึ้เกียจ จัญไร โอม อุอะมุมะมูลมัง  ลุกแต่สวนให้มาบ้าน คั่นขี้คร้านให้นอนอยู่เฮือน  คิงพาไปจังไป คิงพาขั่วจังขั่ว (หมายความว่า เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ใจปรารถนา ให้อิสรเสรีที่จะคิดจะทำ  ถ้าอยากไปทำสวนก็ไป  ถ้าขี้เกียจ ก็ให้นอนอยู่ที่บ้าน  ถ้าใจปรารถนาอยากไปก็ไป   ส่วนหนึ่งก็เป็นคำสอนที่ดีที่ให้กำลังใจว่าคนเรา  จริงๆแล้ว ไม่มีผิดไม่มีถูก อย่าวิตกกังวลเลย ถ้าอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ เป็นการสอนให้คนมีอิสระในการคิด เป็นพื้นฐานของชีวิต ของคนยางชุมใหญ่ ส่วนใหญ่ จะกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ เพราะเขาไม่กลัวผิด เพราะความผิดถูกก็คือสิ่งที่เรากำหนดเอง ถ้าเราเคร่งในสิ่งที่กำหนดมากไป มันก็จะครอบเราจนเราไม่กล้าคิดที่แตกต่าง การให้กำลังใจว่า ลุกแต่สวนให้มาบ้าน ขี้คร้านให้นอนอยู่เฮือน คิงพาไปจั่งไป คิงพาอยู่จังอยู่  เป็นการสร้าง การผ่อนคลายความวิตกได้เป็นอย่างดี(แต่อย่าไปตีความว่าคนแก่ให้ขี้เกียจแล้วให้นอน เป็นความหมายที่ผิดครับ)  ในการกล่าวผูกแขนก็เหมือนกับกล่าวกลอนสด  พูดให้ขวัญกำลังใจคนที่เราผูก  ถ้าเป็นการผูกให้เจ้าให้นาย ก็อวยพร ให้ท่านมียศถาบรรดาศักดิ์สูงขึ้น   ถ้าผูกให้นักเรียนก็ให้ประสบความสำเร็จในการเรียน  ถ้าผู้ให้ผู้หญิงท้องแก่ก็ให้คลอดง่าย  ถ้าผูกให้ทหารไปสู้รบก็ให้ปลอดภัยกลับมา  ตรงนี้จะเป็นกลอนสดของภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละถิ่นไป   การเอาคนแก่มามากๆ สมัยก่อนคนเรานับถือและเคารพผู้อาวุโส ถือได้ว่าเป็นกำลังใจอันยิ่งใหญ่ วาจาของท่านมักจะศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่ดีมากๆ
2.       แต่งแก้  ( มักจะทำในวันอังคาร อวยพรอวยชัยให้ซึ่งกันและกันตรงนี้มักจะเป็นการแก้เคล็ด เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ไม่สบายใจจำเป็นต้องแก้เคล็ด เป็นอุบายของพราหมณ์ที่คนไทยเราก็นับถือคู่กับพุทธศาสนา ที่เห็นบ่อยๆ เช่นแต่งแก้เมื่อคนใกล้คลอด  คนจะไปทหาร  มีงูเข้าบ้าน  มีหมาเห่า  รถคว่ำ มีอุบัติเหตุ มีความวิตก เรื่องต่างๆ  การทำพิธีจะคล้ายกับสู่ขวัญ  แต่จะทำพิธีเล็กๆ เชิญคนแก่ไม่กี่คน ทำในวันอังคารตอนเย็น จะมีฝ้ายผูกแขน  และนำสิ่งชั่วร้ายใส ทง  ไปทิ้ง การเตรียมการก็จะมีการนำต้นกล้วยมาทำเป็น ทง โดยวัดแต่ละด้านยาวเท่ากับ1ศอกของผู้จะรับแต่งแก้ การแต่แก้ทำให้คนเดียว แต่การสู่ขวัญอาจทำให้หลายคนก็ได้  จะมีการตัดเล็บ ตัดผม ใส่ ทง และมีตัดต้นกล้วยเป็นหุ่นนุ่งผ้า มีข้าวดำ ข้าวแดง มีพริก หอมกระเทียม มีหมอพราหมณ์มาสวด เชิญเทวดา ขับไล่ภูตผีปีศาจ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย และเชิญขวัญกลับคืนมา
3.      การผูกเสี่ยว  ในเพศ  วัย  ใกล้เคียงกันและรักใคร่สมานสามัคคีกันใต้คมหอก ใต้คมดาบ  มีพริก มะเขือ เกลือ ปลาแดก ใส่ในน้ำอันศักดิ์สิทธ์ ขอเชิญเทวดาเป็นสักขีพยาน การดื่มน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ และน้ำสุราอันบริสุทธิ์ สาบานต่อกันว่า จะเป็นเสี่ยว เป็นเสมือนบุคคลคนเดียวกัน ฮักเสี่ยวเหมือนฮักตัวเอง เลี้ยงดูลูกเสี่ยวเหมือนลูกตนเอง แต่ว่าบ่อให้เมียเสี่ยวมาเป็นเมียตัวเอง(เสี่ยว อย่าให้กลายเป็นเสี่ยว)หากประพฤติดีต่อกันก็ให้เจริญก้าวหน้า  หากประสงค์ร้ายต่อกัน ก็ให้ตายบนคบดาบคมหอก  ประเพณีตัวนี้เปรียบเสมือนคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้คนรักใคร่ ซื่อสัตย์ สุจริต นับถือกันชั่วลูกชั่วหลาน ไปบ้านเสี่ยว ไปยามพ่อเสี่ยว  ไปหาแม่เสี่ยว บ้านลิ้นฟ้ากับบ้านยางชุมใหญ่ เสี่ยวกันเกือบหมดบ้าน บุญบั้งไฟบ้านยางชุมใหญ่กะคือบุญบ้านลิ้นฟ้า บุญบ้านลิ้นฟ้ากะคือบ้านยางชุมใหญ่ เมากันไปกะเมากันมา เสี่ยวกะไปส่งเสี่ยว ส่งกันไปกะส่งกันมา คั่นไปไปมามา กะบ่อถึงใสจักเทื่อ กะไปแยกกันที่อยู่ทุ่งหนองโน ไปเฮือนไผเฮือนมันเด้อ
4.      การแต่งงาน  การกินดอง  การซูกัน  การอมกัน การแต่งงานเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิต ในชีวิตหนึ่งโดยวัฒนธรรมท้องถิ่นจะมีการแต่งานกันครั้งเดียว จึงกระทำให้ยิ่งใหญ่ สมัยก่อน ถ้าไปช่วยงานแต่งงาน20 บาท จะมารออยู่บ้าน จะมีสาวๆนำภาข้าว ประกอบด้วย ลาบ  ต้ม ก้อย พร้อมเหล้าขาว1 ขวดน้อย มาส่งถึงบ้าน  นี้แหละจึงมีคำกล่าวว่า ยามใด๋สิแต่ง พอได้กินลาบกินก้อยน้ำแหน่(เพราะปกติธรรมดาอยู่บ้านนอกจะไม่ได้กินลาบก้อยกันบ่อย ถ้าไม่มีงานก็จะไม่ได้กิน)
5.      ประเพณีงานศพ
6.      ประเพณีการลงแขกทำงาน
7.      ประเพณี  ขะลำ  เช่น  กินข้าวก่อนผัวเป็นงัวเขาตู้  นอนก่อนผัวขะลำ  นั่งขวางบันไดขะลำ  ฯลฯ
8.      การลำผีฟ้า  การลงธรรม  การไล่ผีปอบ  



ขอขอบคุณข้อมูลดีที่มีประโยชน์จาก
 อาจารย์ซุนย้ง  แซ่เตียว
*ข้อมูลบางส่วนอาจมีส่วนที่เข้าใจผิดพลาดจึงขออภัย ณที่่นี้ด้วย*

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น