ลักษณะภูมิประเทศ

2.  ลักษณะภูมิประเทศของบ้านยางชุมใหญ่

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านยางชุมใหญ่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มทิศเหนือลุ่มแม่น้ำมูล  มีหนองน้ำมาก  เช่น  หนองโน  หนองแซง  หนองตู๋  หนองตากลม  หนองเขมร  หนองสองห้อง  หนองมูก  หนองอีเจิม  เหมาะสำหรับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ  เป็นแหล่งชุกชุมของกุ้ง  หอย  ปู  ปลา  เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
เดิมลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นสันโนนกลม  เนื้อที่ประมาณ  35  ไร่  มีบึงล้อมรอบมีเส้นทางออกจากหมู่บ้านเส้นทางเดียว  น่าจะเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของชาวขอมมาก่อน
โนนป่าคา  ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ห่างออกไปประมาณ  กิโลเมตร  มีชื่อเรียกว่า  โนนปลาคา  ( เหล่าปาคา บางท่านเล่าว่าเป็นโนน  เป็นสถานที่ที่ปลาลอยน้ำขึ้นไปหาอาหารในช่วงฤดูฝน  เสร็จจากหาอาหารก็จะลอยลงมาตามน้ำไม่ทันก็จะคาอยู่บนพื้นสันโนนเป็นจำนวนมากก็เลยได้ชื่อว่าโนนปลาคา  บางท่านเล่าว่าสถานที่แห่งนั้นเป็นสันโนนมีหญ้าคาจำนวนมาก  สามารถเกี่ยวนำมาทำเป็นหลังคาบ้านได้  จึงได้รับขนานนามว่าเหล่าป่าคา  ปัจจุบันนี้โนนป่าคาได้รับการดูแลขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประโยชน์ในเนื้อที่ประมาณ  100  ไร่  โดยการดูแลของสภาตำบลยางชุมใหญ่  เดิมเมื่อประมาณปี  พุทธศักราช  2515  ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน  ได้ลงความเห็นที่จะสงวนผืนดินแห่งนี้ไว้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบล ปัจจุบันปี2549 มีราษฎรบุกรุกแผ้วถางทำการเกษตร และมีการเสนอผู้นำหมู่บ้านที่จะให้คืนเกษตรกร ซึ่งมีความเป็นสภาพสาธารณะเฉพาะเสาหลักเท่านั้น  แต่สภาพความเป็นจริง เป็นสวนของชาวบ้าน ทั้งหมดแล้ว
การดำเนินการในช่วงแรกเป็นเพียงการสงวนไว้  แต่ยังไม่ได้มีการประสานงานขอจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลแต่อย่างใด  อาจจะเป็นเพราะประชากรในตำบลยางชุมใหญ่มีน้อย  ยังไม่เข้าเกณฑ์ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนได้  เมื่อเวลาผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง  ชาวบ้านที่มีไร่นาที่ติดกับผืนดินดังกล่าว  ก็ได้รุกทำไรไถนา    ปลูกต้นไม้ทำมาหากิน    เข้าไปในผืนดินแห่งนั้นเข้าไปเรื่อย ๆ  ประกอบกับสภาพผืนดินมีราคาแพงขึ้น  ทำให้การบุกรุกมากขึ้น  และกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของที่ได้ทำมาตั้งแต่สมัยพ่อสมัยแม่   ทางสภาตำบลยางชุมใหญ่      (ขณะนั้นยังเป็นสภาตำบลลิ้นฟ้า   ได้เสนอให้ทางรัฐออกมารังวัด  และสงวนปักหลักเป็นทีสาธารณะประโยชน์ ในปี  พุทธศักราช  2525  ปัจจุบันรัฐยังสงวนไว้และยังไม่มีการดำเนินการอะไร  การบุกรุกและการอ้างสิทธ์ก็ยังคงดำเนินการต่อไป  จนบางครั้งแม้แต่กรรมการของสภาตำบลยางชุมใหญ่เอง  ยังเคยมีผู้นำบางคน  เสนอให้ทางสภาตำบลฯ ทำหนังสือเสนอขอยกเลิกที่สาธารณะประโยชน์แปลงนี้  แต่ตามหลักการทางกฎหมายแล้ว  เมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประโยชน์แล้ว  ถ้าจะยกเลิกจะทำได้ยากมาก  เพราะจะต้องเสนอกฎหมายเข้าสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรี  เป็นผู้อนุมัติ  และเมื่อเป็นที่สาธรณะแล้ว  การที่เราจะเดินเรื่องเอาที่เหล่านั้นมาออกโฉนดเป็นของตัวเองก็ทำไม่ได้  เพื่อความสบายใจของผู้ทำประโยชน์  ถ้ารัฐเขายังไม่ทำอะไรเราก็ทำมาหากินไป  แต่ถ้าเข้าจะจัดทำ  จัดสร้างสถานที่ราชการเราก็คงต้องออก  เพราะฉะนั้นการปลูกการฝังต้นไม้ควรเป็นพืชอายุสั้น  และไม่ควรปลูกสร้างอาคาร  ซึ่งอาจมีปัญหาในภายหลัง
ดงบ้านแวง  ห่างจากหมู่บ้านออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ  1.5  กิโลเมตร  เป็นดงไม้ใหญ่กลุ่มหนึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าที่มีตำนานเล่ามาว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่เคยมีความเจริญมาก่อน   มีประชากรอยู่อาศัย   มีการสร้างวัดวาอาราม      มีเศษอิฐหัก อันเป็นรากฐานของโบสถ์สิมโบราณ  มีต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ใช่ไม้ป่า  แต่เป็นไม้ในหมู่บ้านคนอาศัยมาก่อน  เช่น    ต้นมะม่วงใหญ่  ต้นมะขาม  สถานที่แห่งนี้น่าจะได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้  แต่ปัจจุบันจะเป็นด้วยความโลภของมนุษย์หรือความอดอยากของประชากรก็ไม่ทราบ    มีผู้คนในท้องถิ่น  จากบ้านยางชุมใหญ่  จากบ้านจอม  เข้าไปจับจอง  ตัดต้นไม้ทำลายป่า  ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ทำแปลงเกษตรปลูกหอม  กระเทียม  หมดสิ้นสภาพความเป็นป่า  คงเป็นเพียงไร่สวนของชาวบ้าน  ถ้าสอบถามคนแก่อายุประมาณ  40  ปีขึ้นไปจะทราบว่าครั้งหนึ่งเคยมีก้อนอิฐโบสถ์เก่า  เคยมีต้นไม้ใหญ่  สถานที่แห่งนี้เป็นของส่วนรวมที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  ไม่มีการทำลาย  แต่ด้วยลัทธิทุนนิยม  ความอยากได้  อยากมี  ประกอบกับอิทธิพลของคน  ได้ทำลายศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจนหมดสิ้น  ช่วงประมาณปีพุทธศักราช  2524    เป็นช่วงที่หอมมีราคาแพง  การบุกรุกทำลายป่าจึงมีมาก  ความเห็นแก่ตัวของคน  การแย่งชิงแผ่นดินทำกินมีความรุนแรงมากถึงขนาดญาติพี่น้องกันเองก็ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ให้มีการจับกุมซึ่งกันและกันบ่อย   ถึงขนาดทำศึกสงครามย่อย กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง   โดยชาวบ้านเองก็มีกองสอดแนม  คอยสอดส่องตำรวจ  เมื่อตำรวจมาก็ถอย กลับก็ลงมือตัดไม้ทำลายป่าขุดรากไม้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เป็นแปลงหอม โดนจับบ้าง ประกันได้บ้างไม่ได้บ้าง ยอมเสียเงินบ้าง และบางรายถึงขนาดจุดตะเกียงให้แสงสว่างในตอนกลางคืนตัดไม้ขุดรากไม้ในตอนกลางคืน สุดท้ายป่าดงบ้านแวงแห่งนี้มีแต่ชื่อได้ขนานนาม คนที่อยากอนุรักษ์คนที่เห็นความสำคัญของแหล่งประวัติศาสตร์มีน้อยและไม่มีบทบาทสำคัญในบ้านเมือง ความเสื่อมถอยของวัฒนธรรมความดีงามของบรรพชนถูกทำลายไปสิ้นน่าเสียดาย ดงบ้านแวงแห่งนี้มีผู้นำบางท่าน ได้ขอสงวนไว้เป็นสถานที่ เลี้ยงสัตว์ บางท่านต่อต้านรักษาแต่ก็ถูกทำลายอย่างราบคาบ ซึ่งอาจารย์บุญชู   วะรงค์ (.วิวัฒนพงษ์   วะรงค์) ชาวบ้านจอมเคยแต่งบทเพลง ดงบ้านแวง กล่าวถึงพ่อใหญ่จารย์ลี  ผู้ต่อสู้ต้องการอนุรักษ์  ส่วนชาวยางชุมใหญ่มีการบุกรุกในรอบนอกมีเฉพาะการร้องเรียน ซึ่งกันและกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนมากกว่าจะรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรายละเอียดไม่ขอกล่าวในหนังสือตรงนี้ ปัจจุบันดงบ้านแวงก็คือแปลงหอมนั้นเอง
ดงบ้านอ้อนห่างออกไปทางด้านทิศตะวันตกของบ้านดอนโกประมาณ 2 กิโลเมตร เดิมมีต้นไม้สูงใหญ่ (ต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์)  ต้นจามจุรี ต้นมะม่วงใหญ่     ต้นมะเกลือ   ต้นมะขาม  ต้นมะตูมตะบองเพชรเป็นหมู่บ้านริมหนองน้ำกุดชมพู จากการสังเกตภูมิประเทศแล้ว เหมาะสำหรับการหาปลา การปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์  (วัว ควาย) และการหาอาหารป่า น่าจะอุดมสมบรูณ์ สถานที่แห่งนี้จากการสังเกตอายุของต้นไม้น่าจะมีอายุรุ่นเดียวกันกับบ้านแวง บ้านยางชุมใหญ่
ดงบ้านอ้อนตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำมูลมากส่วนหนึ่งอาจจะมีข้อดีในการหาปลา แต่อาจจะมีข้อเสียคือเวลาน้ำหลากจะไหลเข้าท่วมไร่นา และที่สำคัญคือเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากชุมชนอื่นเหมาะกับการปล้น การลักของโจร ซึ่งโจรก็หนีได้ง่าย เพียงล่องลอยตามน้ำไป เราก็ตามไม่ทันแล้ว และไม่ได้ร่องรอยในการเดินทางของโจรด้วย (มีบุคคลที่รู้จักดงบ้านอ้อนดี     ก็มี    อาจารย์ ณรงค์ฤทธิ์ ทองกลม ที่ สพท.ศรีสะเกษ เขต 1 และที่เคยกล่าวไว้ในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษ ผีบาป ผีบุญ ชื่อของครูสันติ นามวงษ์ ซึ่งเป็นพ่อของผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านยางใหญ่สมสิทธิ์ นามวงษ์ และพ่อของครูสันติ คือกำนันสูรย์ นามวงษ์ ก็เคยตั้งหมู่บ้าน เลี้ยงวัวในพื้นที่หมู่บ้านนี้ ต่อมา ก็แยกย้ายกันไป)
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าผู้เขียนได้เคยซื้อวัวฝูงหนึ่งประมาณ 20 ตัว นำไปเลี้ยงบริเวณทุ่งหญ้าใกล้บริเวณนั้น ข้าพเจ้าได้ปลูกสร้างบ้านกระท่อมริมมูล ซึ่งบรรยากาศดีมาก ลมพัดเย็นสบาย หาปลาก็หาง่าย แค่นำตาข่ายดักปลา(มอง) ลงในน้ำคลองห้วยหรือลงในมูล  ไม่นานก็จะได้ปลามาทำอาหาร ในฤดูน้ำหลากก็จะได้ปลามาทำอาหาร ในฤดูน้ำหลากก็จะมีน้ำขึ้นมาท่วมพื้นที่บางส่วน ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ได้นำต้นยูคาลิปตัสไปปลูก ซึ่งพอเป็นอนุสรณ์ให้เห็นบ้างในปัจจุบัน
จากการสังเกตผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาบ้างครั้งก็ดูอธัยาศัยดี แต่บางครั้งไม่น่าไว้วางใจนักมีอยู่ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าใส่ตาข่ายดักปลา(มอง)แล้วกลับไปนอนที่บ้านยางชุมใหญ่ รุ่งเช้าข้าพเจ้าไปเก็บตาข่ายดักปลา(มอง)เพื่อจะเก็บเอาปลา   ปรากฏว่ามองหายแล้ว เพื่อนบ้านเคยแนะนำว่าถ้าอยากได้มองคืนให้ไปไถ่เอาที่บ้านผักขะ หรือไม่ก็ไปซื้อเอามองเก่าเขาราคาถูกมาก มีทั้งของเก่าเขาจริงๆและมีของลักขโมยมาจะเอาเป็นกระสอบก็ได้ราคาถูก ข้าพเจ้าเห็นว่าการรับซื้อของโจรเป็นของผิดกฎหมายและเป็นการส่งเสริมให้คนลักขโมย ข้าพเจ้าจะต่อต้านตลอดมา
ก่อนที่ข้าพเจ้าจะลื้อกระท่อมน้อยกลับบ้านประมาณ 3 วัน ในกระท่อมไม่มีคนอาศัย  แค่ 3 วันปรากฏว่าสังกะสีหลังคา หายไปครึ่งหนึ่ง  ฝากระดานไม้หายไปอีกครึ่งหนึ่งจากการสังเกตร่องรอยปรากฏว่าเป้นการช่วยกันหามหลายคน ขนลงเรือล่องลอยไปตามน้ำ
จากเหตุการณ์ สอง สามครั้งที่ผ่านมาก็พอเป็นที่สังเกตได้ว่าหมู่บ้านนี้อุดมสมบรูณ์ แต่ผู้คนจะอยู่ลำบาก  โจรชุกชุม  ผู้คนไม่ซื่อสัตย์ แม้ปัจจุบัน เขตรอบๆฝั่งมูล จะไม่มีการปลูกต้นไม้ผลที่ได้ผล และประชากรส่วนใหญ่นั้นละแวกนั้นเข้าใจดี ว่าเราจะทำอะไรก็ไม่ได้ผลนัก แม้แต่ที่ข้าพเจ้าและเพื่อนๆที่ปลูกต้นยูคาลิปตัสก็โดนขโมยตัด เป็นประจำ หากเวรกรรมมีจริง คนจำพวกที่ลักขโมย บริเวณเขตบ้านอ้อน และรอบฝั่งมูล คงจะไปกองกันอยู่ที่ขุมนรกไม่มากก็น้อย
บริเวณรอบๆดงบ้านอ้อน เมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2524 โดยรวมแล้วยังเป็นป่ายังไม่มีผู้ใด เคยมีคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะครู จัดสงวนเขตที่ป่าเเห่งนี้เอาไว้ทำค่ายลูกเสือมีการทำหนังสือโดยประธานลูกเสือชาวบ้านอำเภอยางชุมน้อย  นำเสนอศึกษาธิการอำเภอยางชุมน้อย ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวหายจ้อยเข้ากลีบเมฆ ผลออกมาว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนี่งแสดงความเป็นเจ้าของทำการขายให้ผู้ต้องการเข้าทำประโยชน์ ปัจจุบันสถานที่แห่งนั้นก็คือแปลงหอมแดงนั้นเอง และอีกไม่นานดงบ้านอ้อนก็คงจะเหลือแต่ชื่อเช่นกัน
ดงบ้านกะเอยเป็นเนินริมฝั่งห้วยลำห้วยครก ห่างจากบ้านยางชุมใหญ่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ กิโลเมตร (ถ้าดูตามแผนที่ ทั้งดงบ้านกะเอยและดงบ้านอ้อนและถือว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแตงแซง) โดยธรรมชาติจากการศึกษาประวัติศาสตร์ อารยธรรมมักจะเกิดใกล้บริเวณลุ่มแม่น้ำ  เพราะคนต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีพ และที่สันโนนเพื่อป้องกันน้ำท่วม จาการสังเกตจะเห็นว่าดงบ้านกะเอยเข้าข่ายดังกล่าวและเมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2525 นายจ่อย  ลูกพ่อใหญ่คำบุ่นได้ขุดจอมปลวกเพื่อทำแปลงหอม ปรากฏว่าได้พบไหโบราณ ได้ทุบไหดังกล่าว  ทราบว่าได้ขวานหินโบราณ อัน มีลักษณะสวยงาม  ข้าพเจ้าดูก้อนหินนั้น มีลักษณะเป็นขวานหิน น่าจะอยู่ในยุคหินใหม่ แต่จากการสังเกตลายหม้อดินมีลักษณะคล้ายบ้านเชียง น่าจะอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน คือประมาณ 5000 ปี มีโครงกระดูก น่าจะเป็นหลุมศพ มีการแตกตื่นข่าวไประยะหนึ่ง ดดยนำสิ่งของที่พบบางส่วนมาถวายหลวงตาเก็บไว้ที่วัดบ้านยางชุมใหญ่บางส่วนก็คงทับถมลงไปในดิน และมีข่าวเล่าลือบ่อยว่ามีคนขุดพบวัตถุโบราณ แต่ด้วยความต้องการอยากสร้างแปลงหอม จึงช่วยกันปิดข่าว จนเรื่องต่างๆจางหายไปในที่สุด
ป่าแตงแซง   หมายถึงป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกินเนื้อที่บริเวณกว้าง รวมเนื้อที่บ้านผักขะ สถานที่สร้างโรงเรียนบ้านดอนโก   ป่าห้วยครก  ดงบ้านกะเอย  ดงบ้านอ้อน  ซึ่งครั้งหนึ่งคือสมรภูมิแห่งการต่อสู้เพื่อแย่งชิงป่า ผู้มีบทบาทอย่างมากกับป่าผืนนี้คือ  1.นายพรมมา    นามวงค์  (พ่อใหญ่โหล) 2. พ่อใหญ่เย่   แก้วคำ 3.พ่อใหญ่เจ๊ก   สีหะวงษ์  4.พ่อใหญ่พันธุ์เป่                          5. พ่อใหญ่นวล  นามวงษ์  6. พ่อใหญ่ก๊อต  ขันคำ  7. พ่อใหญ่ออ   ขันคำ  8. พ่อใหญ่จารย์ทอง   นามวงษ์  9. นายวิชิต  แสงทอง ในช่วงปีพุทธศักราช 2528  การล่าพื้นที่ของนายวิชิต  แสงทอง โดนกลุ่มชาวบ้านเดินเกมขับออกจากพื้นที่ ขณะเดียวงกันชาวบ้านอีกจำนวนมากก็ต้องการพื้นที่ ขณะเดียวกันชาวบ้านอีกจำนวนมากก็ต้องการพื้นที่ในการทำแปลงหอม ประกอบกับบุคคลในพื้นที่ที่เคยทำมาหากินบริเวณนั้นมาก่อน ถือโอกาสแสดงความเป็นเจ้าของและแบ่งขายทีละเล็กละน้อย จนในที่สุดป่าสงวนผืนใหญ่ผืนนี้ก็ลุกเป็นไฟ การแจ้งเจ้าหน้าที่จับกุมซึ่งกันและกันมีบ่อยขึ้น การถูกปรับ ถูกคุมขังได้ยินข่าวแทบทุกวัน  สุดท้ายป่าผืนนี้ก็ราบคาบด้วยน้ำมือคน
ป่าบริเวณสร้างโรงเรียนบ้านดอนโกในช่วงปีพุทธศักราช  2533 2534  นายพรมมา (โหล)ซึ่งมีพื้นที่ดินอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของโรงเรียน กับนายพร(ออ)  ขันคำ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของโรงเรียน ต่างก็อ้างหวังว่าจะหฮุบเอาผืนแผ่นดินผืนนี้เป้นของตนเอง ถ้าฝ่ายหนึ่งเข้าทำประโยชน์ก็จะถูกอีกฝ่ายกหนึ่งแจ้งเจ้าหน้าที่จับกุม แจ้งจับกันหลายครา สุดท้ายได้ทำหนังสือประนีประนอมยอมความกันที่บ้านผู้ใหญ่อ๋า   เสาเวียง  ผู้ใหญ่บ้านดอนโก และเจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอยางชุมน้อย ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
ประกอบกับสมัยนั้นข้าพเจ้า(นายซุนย้ง)ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสี่ของทหารเสือในยุค  รสช. ให้ออกปฏิบัติหน้าที่ ปลูกฝังประชาธิปไตย ช่วยเหลือช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบที่หมู่บ้านดอนโก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ข้าพเจ้าได้ออกประชุมราษฏรอย่างสม่ำเสมอรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนในชุมชนว่าต้องการโรงเรียนประถมศึกษาไปไว้ที่หมู่บ้านข้าพเจ้าขอรับอาสาจัดทำหนังสือให้ แต่สถานที่เรายังไม่มีจะเอาที่ไหนจึงจะได้สร้างโรงเรียน
ในทันใดนั้นทางผู้ใหญ่อ๋า  เสาเวียงก็ออกมารับทันทีบอกไม่มีปัญหาเพราะมีที่ดินแปลงหนึ่งที่ลงนามกันไว้ระหว่างนายพรมมา  นามวงษ์ กับนายพร  ขันคำ  ที่จะไม่บุกรุกผืนแผ่นดินนี้ และสงวนไว้เป็นที่ส่วนรวมของหมู่บ้านและเอาหนังสือนั้นมาให้ข้าพเจ้าดู  ฝ่ายนางสำราญ (นางจี)  ขันคำ  ภรรยาของนายพรก็ประกาศในที่ประชุมนั้นทันทีเช่นกันว่า  ผืนดินผืนนี้ไม่ให้ จะเอาที่ไหนก็เอาไปแต่ผืนนี้ไม่ให้ กระแสความต้องการโรงเรียนของชุมชนมีความรุนแรงมาก  ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องเอาผืนดินผืนนี้  ข้าพเจ้าไม่ออกความเห็นและออกตัวว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับหาที่ดินในการสร้างโรงเรียนผมไม่ขอเกี่ยวข้องขอให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้านและผู้ใหญ่อ๋า   เสาเวียง
การทำหนังสือขออนุญาตใช้ป่าสงวนสร้างโรงเรียนก็ค่อยดำเนินการขั้นตอนไปเรื่อยๆส่วนการคัดค้าน                 ของนายพร   ขันคำและครอบครัวก็ดำเนินควบคู่กันไปจนในที่สุดกรมป่าไม้ก็อนุมัติการก่อสร้าง การเปิดเรียน การทำการสอน การคัดค้าน การแจ้งการบุกรุก การแก้ข้อกล่าวหาที่ศาล การจับกุม  การดำเนินคดี ตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้สิ้นสุดคดี คือให้นายพร ขันคำออกไปแล้วก็ให้ทางโรงเรียนดำเนินการใช้ป่าสงวนแห่งนี้สร้างโรงเรียนได้ตามกฎหมาย
ป่าแตงแซงแห่งนี้ยังมีความร้อนให้ผู้คนในแผ่นดิน การตัดไม้ทำลายป่า การปลูกหอม  การขาดทุน  การมีกำไร การซื้อ  การขาย และท้ายที่สุดข้าพเจ้ารับรองว่าผืนแผ่นดินนี้ก็คือพื้นของแผ่นดิน ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง และไม่นาน ทุกชีวิตที่ดิ้นรนในผืนดินผืนนั้นก็จะจบชีวิตลงทีละคน เมื่อความร้อนเผาไหม้ผู้คนได้ที่และแล้วผืนป่าซึ่งบ่งบอกของความมีชีวิตก็จะกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน มนต์สวรรค์ของความเป็นป่า ความโหดร้ายของผู้ทำลายป่าซึ่งได้รับก็คงจะคุ้มกันกับผลประโชน์ที่กอบโกยไปเช่นกันป่าจะต้องคงอยู่ ป่าจะต้องมีชีวิต ป่าเพื่อคนรักป่า และป่าก็จะเลี้ยงลูกหลานสืบไป
โนนยางท่าห้วยครก  ท่าเรือที่ชาวบ้านจอม  บ้านบอน  บ้านโนน  บ้านยางชุมน้อย  และบ้านยางชุมใหญ่  ใช้เป็นสถานที่นั่งคอยเรือ  ขึ้น ลง  เรือที่จะเข้าไปในเมืองศรีสะเกษในฤดูน้ำหลาก  อยู่ห่างจากบ้านยางชุมใหญ่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ  3.5  กิโลเมตร  สมัยเมื่อ  ก่อนพุทธศักราช  2515  ลงไป  บริเวณรอบ ๆ  อุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณพืชนานาชนิด  คนที่มีอายุรุ่น  40  ปีขึ้นไปพอได้กล่าวถึงบ้าง  เกี่ยวกับการไปหาบักกล้วยน้อยมากิน  การไปหาเห็ด  ไปหาหน่อไม้  ไปไล่กระต่าย  กระแต  การพบเห็นหมาจิ้งจอก  ไปยิงนก  ไปตกปลา  ไปหาบักยาง  ไปเก็บบักก่อมากระเทาะเปลือกสู่ลุกหลานกิน  การไปเลี้ยงวัวควายแถวฝั่งมูล  การผ่าบักเหลี่ยม  การผ่าบักบกกิน  การเก็บผักติ้ว  ผักอีทก  ผักกระโดน  การไปกระโดดน้ำเล่น  การไปหัดว่ายน้ำ  การแสดงความแข็งแกร่งในการเดินทางไกล  การเล่าเหตุการณ์ผจญภัยสู่กันฟังของเด็ก ๆ  และการเล่าเรื่องต่าง ๆ  จากป่า  ของผู้ใหญ่ให้เด็ก ๆ  ฟัง  เกี่ยวกับเจ้าป่า  เจ้าพ่อผู้ปกปักษ์รักษาผืนป่า  ภูตผีปีศาจ  ที่มาของวังเหล็ก  เรื่องงู  เรื่องสัตว์มีพิษ
เมื่อสถานที่แห่งนี้เป็นที่พำนักผู้คนจำนวนมากในการสัญจร  ท่านพระครูสมุห์อ่อน  จุลวังโส  เป็นพระรูปหนึ่งที่สำคัญของบ้านยางชุมใหญ่  ท่านได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ที่กรุงเทพมหานคร  ท่านได้ออกความคิด  นำชาวบ้านสร้างศาลาพักผู้โดยสารที่ท่าห้วยครก  เวลาว่าง ๆ  นานที  ทั้งพระ  เณรและญาติโยมก็จะร่วมกันเดินทางไกลไปถวายเพล  ฉันเพลที่ท่าห้วยครก
พอตกฤดูแล้งของทุกปี  ช่วงเดือนเมษายน  ทางวัดจะมีกิจกรรม  ตบปะทาย  ขนทรายเข้าวัด  จุดปั้งไฟบอกเจ้าที่เจ้าทาง  ทั้งพระ  เณร  ชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน  จะออกเดินทางกันไปเป็นขบวน  ออกเดินทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีต้นตาลคู่  มีคาราวานเกวียนช่วยกันขนอาหาร  เดินทางตั้งแต่เช้า  ส่วนคนที่เดินเท้าเปล่ามักจะออกทางตะวันตกของหมู่บ้าน  ผ ท่าข่อย เดินลัดไปทางโนนป่าคาตรงไปที่โนนยางถึงท่าห้วยครกเช่นกัน  ( ปัจจุบันเส้นทางนี้บางช่วงได้ขาดหาย เมื่อไม่ค่อยมีคนผ่านชาวบ้านก็ทำนาปิดเส้นทาง เมื่อไปถึงก็จะทำการจุดบั้งไฟบอกเจ้าที่เจ้าทางให้เรียบร้อย  หลังจากนั้นก็พากันลงอาบน้ำ  ไล่หยอกกันเป็นที่สนุกสนาน  เล่นบักว่อในน้ำ  เล่นสาดน้ำใส่กัน  แล้วก็ช่วยกันก่อดินทราย  ( ก่อปะทาย เป็นกองสูงประมาณเข่า  มีการสวดมนต์  ตั้งจิตอธิษฐาน ปักไม้ปิดกระดาษหลากสี  ฝ่ายญาติโยมส่วนหนึ่งก็ช่วยกันจัดหาอาหารถวายเพล        ช่วงเวลาประมาณ  11.00  เมื่อพระฉันเสร็จญาติโยมก็ร่วมกันรับประทานอาหารด้วยกันทั้งหมู่บ้านอย่างสนุกสนาน  กิจกรรมนี้เด็ก ๆ  ชอบมาก  หาดทรายสวยงาม  น้ำตื้น ๆ  สะอาด  เด็ก ๆ  เล่นกันเกือบตลอดวัน  หลอกล้อกัน  เล่นบักควายตึ่งตั่ง  หลังจากทานข้าวเที่ยงเสร็จก็ช่วยกันขนทรายขึ้นมาเทใส่ กระโล่เกวียน  โดยให้คนยืนเป็นแถวตั้งแต่กองทรายเรียงรายเป็นแถวต่อกันมาจนถึงบนฝั่งใกล้กับกระโล่เกวียน  เอาถึงตักทรายส่งต่อ ๆ  กันมาจนถึงคนสุดท้ายจึงเทใส่เกวียน  ถือกันว่าคนไหนมีโอกาสขนทรายเข้าวัดจะได้บุญกุศลมาก  ทุกคนเมื่ออยากได้บุญก็ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ทั้งพูดคุยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน  เด็ก ๆ  บางคนบอกว่าอยากให้ถึงฤดูแล้งเร็ว ๆ  อยากไปเล่นอีกแถมได้บุญอีกต่างหาก  ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาวจะเป็นกำลังสำคัญในการเข้าแถวส่งถังทราย  ( ถ้ามองดูในแง่ของเหตุผลในสมัยปัจจุบัน น่าจะเป็นอุบายหนึ่ง  ที่ผู้ใหญ่ในชุมชนได้เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวสร้างความคุ้นเคยกัน  สนุกสนานรักใคร่  ขณะเดียวกันก็แสดงอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่  และหนุ่มสาวสมัยนั้นจะขี้อาย  จะมีการละเมิดทางเพศน้อยมาก  มีหลายคู่ที่พบรักกันที่นั่นและได้แต่งงานกันในกาลต่อมา เด็ก ๆ  ก็สนุกสนานประสาเด็ก  คนแก่ก็มีโอกาสได้ทำบุญ  ทำใจกว้าง(เหมือนมีคำกล่าวในเวลาผูกแขนว่า ให้ใจดีจั่งน้ำสร้าง(น้ำบ่อที่สะอาดสามารถนำมาดื่มกินได้)  ใจกว้างจั่งน้ำของ(เป็นผู้ให้ทาน เสียสละอันยิ่งใหญ่คือการให้อภัยทาน น้ำของคงจะมาจากคนที่ย้ายถิ่นมาจากประเทศลาวที่บอกว่าแม่น้ำของนั้นกว้างใหญ่นัก คนใจกว้างคือไม่คิดแคบ ไม่โกรธคนอื่น ไม่กล่าวร้ายคนอื่น )  ทำอาหารถวายพระ  ให้คำแนะนำหนุ่มสาวและเด็ก ๆ  เป็นตัวอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติ  เมื่อขนทรายใส่เกวียนเสร็จ  ตะวันคล้อยก็ช่วยกันเก็บข้าวของและเดินทางกลับ  ทั้งสนุกสนานทั้งเหนื่อย  เมื่อเดินทางมาถึงวัดก็ช่วยกันนำทรายมากองไว้หน้าโบสถ์  แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านอาบน้ำทานอาหารเย็น  พอตกค่ำประมาณ  ทุ่ม  ชาวบ้านจะมารวมกันทั้งหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง  ทำพิธีถวายกองทราย  กองทรายให้สวย  ประดับประดาตกแต่ง  ปูเสื่อเป็นแถวด้านหน้าให้พระสงฆ์สวดมนต์  งานนี้ก็จะมีการเปิดเครื่องขยายวัดให้เปิดเพลง  เปิดหมอลำให้เสียงดังให้รู้กันทั้งหมู่บ้าน  ( งานนี้ชาวบ้านมีโอกาสพบปะพูดคุยกันแทบตลอดวัน  สร้างมิตรไมตรี  รักใคร่กลมเกลียวกันดีมาก เมื่อได้เวลาอันควรก็ทำพิธีถวายกองทราย  และวันใหม่ทางวัดก็จะนำทรายไปก่อสร้างโบสถ์ต่อไป
ปัจจุบันกิจกรรมนี้หายไปสิ้น  จะมีบ้างก็ลูกหลานสมัยใหม่เขาพากันไปขี่มอเตอร์ไซด์กินลมชมวิว  อาบน้ำ  พบรักแบบไม่เหมาะสมบ้าง  เหมาะสมบ้าง  ไปเที่ยว  ไปเล่นน้ำบ้าง  ในช่วงสงกรานต์ประมาณ  3 วัน  และช่วงนักเรียนปิดเทอมใหม่ ๆ  ดูแล้วถือได้ว่ายังไม่ดี  ถ้ากิจกรรมนี้จะหายไปเลยเหมือนทุกวันก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง  ศาลาท่าห้วยครกก็หายไปกับหมู่โจร  ปัจจุบันไม่มีการเดินทางทางน้ำอีก
เรือยูงทอง  เป็นเรือแห่งความทรงจำของข้าพเจ้าเพราะครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสเป็นแอ๊ดเรือ  ( เด็กท้ายเรือ เป็นคนเก็บค่าโดยสาร  เป็นเด็กรับใช้ในเรือช่วงปิดเทอม  แทบทุกวันท่าห้วยครก  คือท่าเทียบเรือยูงทอง  ปุ่วรพจน์  แซ่ลิ้ม  และปู่เขียน  แซ่ลิ้ม  คู่แฝดลูกแม่ใหญ่ผัน  ซึ่งเป็นน้าของข้าพเจ้าท่านได้ร่วมกันลงทุนซื้อเรือโดยสาร  มีเครื่องยนต์ดีเซลล์เป็นตัวขับเคลื่อน  เขียนชื่อด้านข้างลำเรืออย่างสวยงามว่า  ยูงทอง   ในช่วงนั้นทุกเช้าข้าพเจ้าจะต้องนำก่องข้าวเหนียวเดินทางจากบ้านยางชุมใหญ่ด้วยเท่าเปล่าไปยังเรือยูงทอง  เมื่อผู้คนขึ้นเรือจนได้เวลาอันควรคือประมาณ  07.00  ถึง  08.00  เรือก็จะสตาร์ทเครื่องยนต์ดังกระหึ่มเริ่มวิ่งออกจากท่าเทียบเรือห้วยครก  วิ่งตามลำน้ำมูลไปทางทิศตะวันออก  ท่าแรกที่จอดรับผู้โดยสารคือท่าบ้านผักขะมักจะพบกับเรือบ้านผักขะ  ลำ  คือของนายสุขัง โตมร กับอีกท่านหนึ่งคือพ่อใหญ่สง  และเรือนายรอด  บ้านกุดเมืองฮาม  เรือจากราษีไศล  เรือทุกลำที่กล่าวมาจะมีประมาณ  5 ลำ  มีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือตัวเมืองศรีสะเกษ  เมื่อเลยบ้านผักขะมาไม่ไกลนักก็จะเข้าช่องรูห้วยสำราญ  เป็นช่วงที่กว้างของลำน้ำมูลแห่งหนึ่ง  ขณะที่เรือเข้าโค้งในช่วงรอยต่อห้วยสำราญกับลำน้ำมูลเป็นช่วงหนึ่งที่อันตรายมากโดยเฉพาะฤดูน้ำหลาก  น้ำจะหมุนเป็นเกลียว  บางทีระดับน้ำในห้วยสำราญจะสูงกว่าลำน้ำมูลเป็นฟุต  เรือแต่ละลำเวลาแซงหรือวิ่งสวนกันในช่วงลำน้ำมูลก็ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่นัก  แต่พอเข้าไปในลำห้วยสำราญ  ลำน้ำจะแคบลง  คดเคี้ยว  น้ำไหลเชี่ยวกราก  คนเฒ่าคนแก่มักจะยกมือไหว้คุณพระคุณเจ้า  เจ้าที่เจ้าทางขอให้ตลอดปลอดภัยถ้าเรือสวนกันหรือวิ่งแซงกันน้ำข้างเรือหรือกาบเรือจะกระเพื่อม  บางทีน้ำกระฉอกเข้ามาในเรือ  ในตัวเรือก็จะมีรูรั่วซึมของน้ำเข้ามาเป็นระยะ  ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่เอาถ้วยตักเอาน้ำออกแทบตลอดเวลาในช่วงของการเดินทางเมื่อเข้าลำห้วยสำราญก็จะได้เทียบเรืออีกครั้งที่ท่าเรือบ้านโนนจาน  และสุดท้าย ที่ท่าเรือศรีสะเกษ  ก่อนเรือจะจอดก็จะมีการเก็บค่าโดยสารประมาณคนละ  บาท  ส่วนเด็กก็  บาท  เรือลำหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ  100 150  บาท  ต่อวัน  เรือแต่ละลำจะเริ่มเข้าเทียบท่าเรือศรีสะเกษช่วงเวลา  08.00  ถึง  09.00  มีทั้งเรือโดยสารธรรมดา และเรือด่วน  ส่วนใหญ่เรือด่วนจะเป็นเรือจากราษีไศลมีลักษณะแบน มีเครื่องอยู่ท้ายเรือ  ตกแต่งสวยงาม  ไม่มุงหลังคา  จะวิ่งเร็วมาก  พอขึ้นท่าเรือก็จะนำก่องข้าวออกมาทานกันในเรือบางครั้งข้าพเจ้าได้ขึ้นไปนั่งบนหลังคาเรือในขณะเรือวิ่งรู้สึกอากาศสดชื่น  คนเดินเรือสมัยก่อนท่านมีเมตตามากเห็นนักเรียนมานั่งเรือบางทีท่านสงสารท่านบอกว่าเด็กนักเรียนไม่ต้องเสียค่าโดยสารหรอก  ลูกหลานให้ตั้งใจเรียนเด้อให้เป็นเจ้าคนนายคน  ข้าพเจ้ายังจำพ่อใหญ่เจ้าของเรือบ้านผักขะ พ่อใหญ่สง ท่านนั้นได้จนทุกวันนี้
ท้ายสุดไม่นานนักเรือยูงทองก็ประสบภัยอับปางลง  เมื่หัวเรือไปชนกิ่งไม้ใกล้ท่าเทียบเรือบ้านโนนจาน  เงินทองที่เก็บออมจากการเดินเรือก็หมดสิ้น  ต้องกู้ลำเรือ  ต้องจ่ายค่าเสียหายกับผู้โดยสารที่ประสบภัย  สุดท้ายน้าทั้งสองของข้าพเจ้าก็ตัดสินใจขายเครื่องเรือ  ส่วนลำเรือก็กระเทาะออกเอากาบเรือทำตู้ขายของจนกระทั่งทุกวันนี้ที่บ้านปู่วรพจน์    แซ่ลิ้ม  เรือสีฟ้า  เรือยูงทอง  เรือยนต์ของคนยางชุมใหญ่ได้สลายไป  แต่ความทรงจำของคนรุ่นนั้นก็ยังคงอยู่
กว่าจะกลับถึงบ้านแต่ละวันเมื่อเรือเทียบท่าห้วยครกในตอนเย็นข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้นำก่องข้าวกลับบ้านทุกวัน  บางวันค่ำ  บางวันก็ต้องไปส่งผู้โดยสารที่เหมาลำเรือไปส่งไกลถึงอำเภอราษีไศล  การเดินทางเข้าเมืองศรีสะเกษสมัยนั้น  จากบ้านยางชุมใหญ่เข้าตัวเมืองรู้สึกว่ามันไกลแสนไกล  ต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นวัน  ต้องฝ่าอุปสรรคนานัปการ  เคยมีเรือล่มบ่อย  ครั้งหนึ่งในฤดูน้ำหลาก  เรือราษีไศล  โดยสารนักเรียนไปที่บ้านเป๊าะ  ( อำเภอบึงบูรพ์ในปัจจุบัน ประมาณปี  พุทธศักราช  2514  ปรากฏว่าเรือล่ม  มีนักเรียนตายเป็นจำนวนมาก  ข่าวนี้ได้สร้างความสลดใจให้ผู้ปกครอง  ครู  และเพื่อนนักเรียนเป็นอย่างมาก
ทุกวันนี้เรือยนต์ได้หายไปจากลำน้ำมูล  หายไปจากคุ้งน้ำห้วยสำราญ  ยังคงเหลือแต่ชื่อท่าเรือศรีสะเกษ  เรือเฒ่าแก่ตี๋  เฒ่าแก่เขียน  เฒ่าแก่โฮ่  พ่อใหญ่ลอด  นายสุขัง  พ่อใหญ่สง บ้านผักขะ  เรือด่วนราษีไศล  ท่าเรือศรีสะเกษคือความทรงจำ






ขอขอบคุณข้อมูลดีที่มีประโยชน์จาก
 อาจารย์ซุนย้ง  แซ่เตียว
*ข้อมูลบางส่วนอาจมีส่วนที่เข้าใจผิดพลาดจึงขออภัย ณที่่นี้ด้วย*

1 ความคิดเห็น:

  1. shunyong saetiao ได้ฝากความคิดเห็นไว้ที่บทความของคุณ "ลักษณะภูมิประเทศ":

    อ่านประวัติศาสตร์ มองปัจจุบัน เห็นอนาคต เคยอยู่ร่วมกัน ฝ่าพันอุปสรรค มีทั้ง ผี มีทั้ง ปอบ มี สิงห์ สา รา สัตว์ ทำให้ผู้คนสามมัคคี เหนียวแน่น เวลาผ่านไป ความเจริญเข้ามา เครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย ช่วยกันซ์้อ สะสม โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น รถมอเตอร์ไซด์ รถยนตร์ ยศถาบรรดาศักดิ์ ท่านผู้ใหญ่ ท่านผู้ช่วย ท่าน อบต. ท่าน นายก ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้ามา การชิงดี ชิงเด่น แย่งไร่สวน นาไร่ ความรักใคร่ต่อเพื่อนบ้านน้อยลง ความเห็นแต่ตัวมากขึ้น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แทบไม่มี ถามว่าดีขึ้นใหม่ ก็ไม่อยากสรุป หลายคนพูดว่า ไม่อาจจะกลับทางเดิมได้ มีแต่เดินไปข้างหน้า ใช้ควายไถนาไม่ได้ ลูกๆ เขาก็ต้องการแท๊ปเล็ต โน๊ตบุคส์ ไอโฟน เล่นไลน์ เล่นเฟส นาก็ทำไม่ได้ โทรศัพท์สั่งเลยครับ แล้วอนาคตละครู ครูไปต่างประเทศ ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ยัน สุดยอดความเจริญแถวเอเชียมาหมดแล้ว ไม่ว่า สิงค์โปร์ ฮ่องกง หมาเก๊า คุนหมิง กวางโจ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ สรุปได้ว่า คนแต่ละคนก็เหมือนไก่พันธุ์ อยู่ในคอก ทำอะไรแบบไฮเทค จะกินก็โทร จะซื้อจะขายก็โทร จะจ่ายก็โทร อาหารมาถึงที่นอน จะเที่ยวก็โทร ทุกอย่างบริการผ่านโทร สิ่งที่เหมือนกันของคนทุกยุคทุกสมัยก็คือ เอาอะไรไปไม่ได้ ตายแน่่ ต่อไป ตายก็โทร แล้วผู้จัดการศพเขาก็จะจัดการให้ จ่ายแพงก็จัดใหญ่ จ่ายน้อยก็จัดเล็ก ไม่มีคนจัดก็มูลนิธิจัดการให้ หรือไม่ก็บริจาคให้มหาลัยเขาเอาศพไปทำเป็นอาจารย์ใหญ่ ชำแหละดูกระดูก แล้วเผา ทำบุญให้ ปรวัติศาสตร์เขียนไว้ ให้ลูกหลาน รักใคร่ปรองดอง สังคมบ้านเราจะอยู่เป็นสุข อัน ลาภยศ สรรเสริญ สุข มีได้เสื่อมได้ คนได้ ก็อย่าเบ่งมากนัก เวลามันหมดไป ผู้คนเขาสมเพช ขอให้ทำดีให้มากๆ หากทำดียังไม่ได้ ก็ทำชั่วให้มันน้อยลง อย่า สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง และอย่าสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ครับ
    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ